ข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์
ประวัติความเป็นมา
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช รับงบประมาณแผ่นดินในการก่อสร้างศูนย์วิทยบริการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 เป็นต้นมา เปิดให้บริการแห่งแรกในปี พ.ศ. 2534 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยให้บริการอยู่ในขอบเขตพื้นที่ตั้งเป็นหลักและเน้นงานบริการห้องสมุด ต่อมาได้ขยายบทบาทของศูนย์ฯ เพิ่มขึ้นและเปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์วิทยพัฒนาบริการ ได้ขยายการเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ.2540 ที่จังหวัดเพชรบุรีนครสวรรค์ อุบลราชธานี และสุโขทัย ต่อมาในปี พ.ศ.2541 ได้เปิดให้บริการที่จังหวัด อุดรธานี ลำปางและปี พ.ศ .2542 เปิดให้บริการที่จังหวัดจันทบุรี ยะลา และจังหวัดนครนายก เปิดให้บริการในปี พ.ศ.2543 เปิดดำเนินการได้ทั้งหมด 10 แห่ง และได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์วิทยพัฒนา ซึ่งหมายถึง “แหล่งพัฒนาความรู้” เพื่อให้ครอบคลุมภารกิจที่มหาวิทยาลัยกำหนดให้ศูนย์ ฯ เป็นเสมือนตัวแทนของมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค โดยมีขอบข่ายงานกว้างขวางทั้งการให้บริการแก่นักศึกษาทุกระดับที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัย ประชาชนทั่วไปตลอดจนมีบทบาทในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย จึงจำเป็นต้องมีความคล่องตัวในการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องประสานกับแนวนโยบายของมหาวิทยาลัย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 มหาวิทยาลัยได้มีการจัดทำแผนปฏิรูปมหาวิทยาลัย และเริ่มนำมาใช้ปฏิบัติตามแผนปฏิรูปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมาและมีมติให้ออกประกาศมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เรื่อง การแบ่งส่วนงานภายในสำนักบริการการศึกษา พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 14 มกราคมพ.ศ. 2564 โดยแบ่งออกเป็น 6 ส่วนงาน ดังนี้
– สำนักงานเลขานุการ
– ฝ่ายแนะแนวการศึกษา
– ศูนย์บริการการศึกษาประจำภูมิภาค
– ศูนย์บริการการสอนทางไปรษณีย์
– ส่วนบริหารศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์
– ศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ จำนวน 18 จังหวัด
และมีการจัดตั้งศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์เพิ่มเติมอีกจำนวน 8 จังหวัด ซึ่งจากเดิมที่มีอยู่แล้ว 10 จังหวัด รวมเป็น 18 จังหวัด (ปัจจุบันยังเปิดแค่ 11 จังหวัด เพิ่มนนทบุรีมา 1 จังหวัด) ซึ่งครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการจัดกิจกรรม การบริการการศึกษา ให้เป็นเครือข่ายในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของมหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาค รวมถึงการขยายและสร้างเครือข่ายชุมชนสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยและชุมชนในพื้นที่รับผิดชอบ ในวันที่ 14 มกราคม 2564 ศูนย์วิทยพัฒนา มสธ. นครศรีธรรมราช จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น” ศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ. นครศรีธรรมราช” จนถึงปัจจุบัน รับผิดชอบพื้นที่ 4 จังหวัด กลุ่มภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง แต่ในปัจจุบันระหว่างการก่อตั้งศูนย์ฯ เพิ่ม ศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ. นครศรีธรรมราช จึงดูแลครอบคลุมจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง
ศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ มสธ. นครศรีธรรมราช แบ่งส่วนการบริหารงานออก เป็น 3 งาน คือ
1.งานอำนวยการและบริหารงานทั่วไป
2.งานประสานเครือข่ายและชุมชนท้องถิ่น
3.งานบริการสื่อและเทคโนโลยีการศึกษา
โดยมีผู้อำนวยการศูนย์วิทยบริการและชุมชนสัมพันธ์ เป็นผู้รับมอบนโยบายจาก รองอธิการบดี ที่อธิการบดีมอบหมายให้กำกับดูแล ซึ่งปัจุบันอยู่ในการกำกับดูแล ของรองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
ปณิธาน
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยในระบบเปิด ยึดหลักการศึกษาตลอดชีวิต มุ่งพัฒนาคุณภาพของประชาชนทั่วไป เพิ่มพูนวิทยฐานะแก่ผู้ประกอบอาชีพและขยายโอกาสทางการศึกษาต่อสำหรับผู้สำเร็จมัธยมศึกษา เพื่อสนองตอบความต้องการของบุคคลและสังคม ด้วยการจัดระบบการเรียนการสอนทางไกล ซึ่งใช้สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิธีการอื่นที่ผู้เรียนสามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียนตามปกติ
วิสัยทัศน์ (Vision)
มุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านบริการการศึกษา และพัฒนาเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ
พันธกิจ (Mission)
- บริการการศึกษาแก่นักศึกษาและประชาชน
- ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมการเรียนการสอนของ มสธ.
- สร้างความร่วมมือและสร้างเครือข่ายในการให้บริการการศึกษาทางไกล
- อนุรักษ์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น
วัตถุประสงค์
- เพื่อสนับสนุนและรองรับกิจกรรมการเรียนการสอน การฝึกอบรมและงานบริการการศึกษาในระบบการสอนทางไกล
- เพื่อเป็นตัวแทนในการให้บริการสื่อการศึกษาและเทคโนโลยีต่างๆ ของมหาวิทยาลัย
- เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของมหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาค
- เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของชมรมนักศึกษา ชมรมบัณฑิต สมาคมสุโขทัยธรรมาธิราช และองค์กรอื่นที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย
- เพื่อดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ตามที่มหาวิทยาลัยมอบหมาย